วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

”Irish Traditional Music, Song and Dance”

ดนตรีไอริชเป็นหนึ่งในดนตรีพื้นบ้านไม่กี่ชนิดที่มีเสน่ห์จับใจผู้คนไป ทั่วโลก นอกจากความงดงามอย่างไม่ต้องสงสัยของท่วงทำนองและลีลาการแสดงแล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของดนตรีพื้นบ้านไอริชก็คือบทบาททางสังคมและการ เมือง ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่ชาวไอริชใช้ดนตรีของตัวเองระบายความรู้สึกอัดอั้น แค้นเคือง และปลุกเร้าการต่อสู้เพื่อขับไล่กองทัพอังกฤษที่บุกเข้ายึดครอง หรือช่วงที่ชาวไอริชต้องเดินทางจากบ้านเกิดไปบุกเบิกโลกใหม่ในประเทศสหรัฐ อเมริกา ดนตรีและการเต้นรำเป็นเพียงไม่กี่สิ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยวและสร้างความภาคภูมิ ใจในความเป็นไอริชท่ามกลางสังคมที่หลากล้นไปด้วยผู้คนต่างเผ่าพันธุ์จากทั่ว โลกที่เดินทางมาสร้างชีวิตใหม่เช่นเดียวกัน ในช่วงเวลานี้เองที่ทำให้ดนตรีไอริชกลายเป็นรากเหง้าสำคัญของดนตรีพื้น บ้านอเมริกัน ซึ่งต่อมาไม่นานดนตรีพื้นบ้านอเมริกันหรือดนตรีโฟล์คจากการขับขานของบ๊อบ ดีแลน หรือโจแอน เบซ ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาหนุ่มสาว ทั้งหลายทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ 1960s ซึ่งในกรณีของประเทศไทยก็ได้ทำให้ดนตรีโฟล์คกลายเป็น “ภาพตัวแทน” ที่ทรงพลังที่สุดของศิลปะเพื่อการเมืองในความคิดของศิลปินและนักเคลื่อนไหว ชาวไทยนับตั้งแต่อดีตนั้นเป็นต้นมา
นี่จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งที่วงวิชาการ นักเคลื่อนไหว หรือแม้แต่กระทั่งคนไทยทั่วไปที่รักในเสียงดนตรี จะได้มีโอกาสสัมผัสกับรากเหง้าดนตรีโฟล์คแท้ๆ จากนักเต้นและนักดนตรีพื้นบ้านไอริชฝีมือเยี่ยมที่สุดกลุ่มหนึ่งที่รวมตัว เฉพาะกิจเพื่อการแสดงในงานประชุมครั้งนี้เพียงรอบเดียวเท่านั้น ได้แก่ Mick Moloney (เทเนอร์แบนโจ, แมนโดลิน, กีตาร์), Athena Tergis (ไวโอลิน), John Murphy (ปี่อุยลีน — ปี่ถุงลมคล้ายปี่สก๊อตที่เป่ายากและซับซ้อนมากที่สุด), Frank Crocker (กลองบ๊อดดราน — เครื่องดนตรีโบราณที่สุดของชาวไอริช) และ Niall O’Leary (แชมป์โลกสเต๊ปดานซ์ — การเต้นพื้นบ้านอันโด่งดังของชาวไอริช) และนี่ยังถือเป็นการแสดงดนตรีพื้นบ้านไอริชเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการครั้ง แรกในประเทศไทยอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น