วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ผมรวยที่สุดในสเปน

ผมรวยที่สุดในสเปน



ณ วันนี้ เวลานี้ คนที่จะสามารถพูดประโยคนี้ได้ มีเพียงคนเดียว คือ Amancio Ortega เพราะว่าตามรายงานของ World's Richest People 2005 จากนิตยสาร Forbes บอกว่า นาย Amancio Ortega วัย 69 ปี ผู้เป็นเจ้าของสินทรัพย์จำนวน 12,600 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศสเปน และรวยเป็นอันดับที่ 23 ของโลก

หลายคนอาจเริ่มจินตนาการกันแล้วว่า Ortega ร่ำรวยมาจากธุรกิจอะไร อาจจะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสาร, ไบโอติกส์, คอมพิวเตอร์, ธุรกิจค้าปลีก ซูเปอร์ สโตร์ ฯลฯ ตามรูปแบบธุรกิจยอดฮิตที่สามารถสร้างความร่ำรวยได้ในยุคโลกาภิวัตน์

ขอตอบว่า ไม่ใช่เลย เขาผู้นี้ขายผ้าครับ ถ้าจะขยายก็คือ ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป เผอิญว่าขายดีจึงขายไปทั่วโลกแล้วจึงรวย เป็นที่มาของกลุ่ม Inditex ที่มียอดขายต่อปีไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านยูโร ซึ่ง Ortega เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าของแบรนด์หลักของกลุ่มนี้คือ Zara แบรนด์ต่อมาคือ Massimo Dutti, Stradivarius, Pull& Bear, Bershka, Kiddy's, Oysho รวมกันมี 2,296 ร้าน ใน 56 ประเทศ

Ortega เกิดที่เมืองเลออน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ แคว้นกาลิเซียทางภาคเหนือ เริ่มเข้าทำงานที่ร้านขาย เสื้อผ้าแห่งหนึ่ง เขาได้เรียนรู้ทุกอย่างในการทำธุรกิจเสื้อผ้าจากร้านแห่งนั้น จึงตัดสินใจเปิดร้าน Zara ร้านแรกของตัวเองขึ้นในปี 1975 จนได้เติบโตมาเป็นกลุ่ม Inditex ได้ใช้เวลาแค่ 30 ปี ก็กลายเป็นเบอร์สามของโลก รองจาก GAP และ H&M

Ortega ไม่ได้จบจากโรงเรียนทางธุรกิจ ไม่ได้ จบ MBA ไม่ได้มาจากครอบครัวนักธุรกิจ พ่อของเขาเป็นแค่พนักงานของการรถไฟ แต่เขาได้เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในประเทศ เขาทำได้อย่างไรในเวลาเพียงไม่กี่ปี ในธุรกิจเสรีที่ไม่มีสัมปทาน และไม่มีการผูกขาด

คำถามนี้ยังดูเป็นปริศนาเกินไป เพราะแม้แต่ชื่อของ Ortega เอง กลับไม่เป็นที่รู้จักมากนักในประเทศสเปน ผมเองอยู่ประเทศนี้มาสี่ปี เพิ่งเห็น Ortega ปรากฏตามสื่อต่างๆ เพียงแค่ครั้งสองครั้ง เคยถามเพื่อนๆ ชาวสเปนที่เรียนด้วยกันว่า ใครรวยที่สุดในสเปน? ก็ตอบกันไปว่า คนโน้นมั่ง คนนี้มั่ง แต่ก็ไม่เคยถูกสักที ความไม่ดังอันนี้ไม่ทราบว่าเป็นความสามารถพิเศษของ Ortega เอง ที่เล่ากันว่า เขาเป็นคนง่ายๆ ใช้ชีวิตเหมือนเดิม ทานกาแฟร้านเดิมกับเพื่อนฝูงกลุ่มเดิม แล้วก็ไปทำงานหรือว่ามี "มาตรการพิเศษ" ที่จะป้องกันการรบกวนของสื่อ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตแบบสบายๆ ตามสไตล์ของมหาเศรษฐี หรือว่าจะเป็นไปตาม สมมติฐานนี้ที่ว่าคนสเปนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางถึงล่าง ไม่ค่อยให้ความสนใจว่า ใครจะรวยหรือรวยมากอย่างไร คิดแต่เพียงว่า ทำอย่างไรตนจึงมีการมีงานทำ และใช้เงินที่ได้มาไปหาความสนุกเพลิดเพลินให้กับชีวิตตามอัตภาพ ฉะนั้นคนดังที่นี่จะไม่ใช่คนรวย แต่มักเป็นพวกดารานักร้องที่ปรากฏให้เห็นในทีวี และนิตยสารต่างๆ เพราะว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้คนในสังคมได้ ประกอบกับในทางความเชื่อของคนที่นี่ พวกเขายอมรับว่าสิ่งที่ได้มาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินเงินทอง เป็นพรของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงประทาน ประทานให้ใครก็เป็นของคนนั้นของใครก็ของใคร แม้ว่ายังหาคำอธิบายไม่ได้ว่า ทำไมพรอันนั้นจึงไม่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน

Zara เป็นร้านขายเสื้อผ้าร้านเดียวในสเปนที่มีลูกค้ายืนรอเข้าแถวซื้ออยู่เป็น ประจำ ถ้าถามว่าทำไม Zara จึงขายดีขนาดนี้ จากภายนอกเริ่มตั้งแต่ตู้โชว์สินค้าที่เป็นคอลเลกชั่นใหม่ๆ เป็นสไตล์สีอ่อน โดยมีสีขาวเป็นหลัก เสริมด้วยสีโทนอ่อนเรียบ น้ำตาลอ่อน เทา เป็นต้น ให้ความรู้สึกว่า "น่าเข้าไปดู" คือไม่หรูเกินไปและไม่ธรรมดาเกินไป เป็นความพอดีตั้งแต่ภายนอก ภายในก็จะแบ่งเป็นแผนกหญิงชายและเด็ก เน้นการตกแต่งที่เป็นสีขาวและสีสดใส เขียวอ่อน ส้ม หรือชมพู

ในด้านการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ ก็เป็นแบบเรียบง่าย แต่แฝงความทันสมัยไว้ในบางจุด เน้นสีโทนอ่อนนุ่ม สำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน สำหรับไปทำงาน ไปเรียน หรือไปเที่ยว นี่ก็เป็นความพอดีอันที่สอง หากพลิกดูป้ายราคาก็ยิ่งน่าสนใจ ไม่ถูกและไม่แพงจนเกินไป ในระดับ 20-50 ยูโร จึงได้เป็นความพอดีอย่างที่สาม ดูเหมือนว่าบทสรุปของความนิยมของ Zara อยู่ที่ความพอดี เป็นเสื้อผ้าที่ "มียี่ห้อ" ที่ทุกคนมีสิทธิ์สวมใส่ ซึ่งถือว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่ตอบสนองสังคมบริโภคนิยมในยุคปัจจุบันได้เป็น อย่างดี แต่ข้อมูลในเชิงการตลาดบอกว่าการที่ Zara เป็นที่นิยมขนาดนี้ เพราะว่า Ortega ผู้นี้สามารถเปลี่ยนตู้โชว์หน้าร้านให้มีคอลเลกชั่นใหม่พร้อมกันทั่วโลกใน ทุกสองสัปดาห์ ทำให้เป็นที่ติดตามของสาวๆ และแม่บ้านทั้งหลาย

โลกตะวันออกยังเป็นดินแดนไกลโพ้นในความรู้สึกของชาวสเปนอยู่เสมอ แต่ Zara ก็ได้ไปถึงที่นั่นแล้ว โดยเริ่มต้นแล้วที่โตเกียว, ฮ่องกง, สิงคโปร์, กัวลาลัม เปอร์ การขยายตัวของ Zara ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่รีบร้อน แต่ไม่หยุดนิ่ง อย่างมืออาชีพ คาดว่าอีกไม่นาน ก็คงได้เห็นร้าน Zara ในกรุงเทพฯ และไม่ว่าร้าน Zara จะไปเปิดที่ไหน จะต้องใหญ่ และอยู่ใจกลางเมือง ในทำเลที่ดีที่สุด จนมีผู้กล่าวว่าถ้าไปเมืองไหนที่ไม่รู้จัก หากเจอร้าน Zara แสดงว่าตรงนั้นแหละเป็นดาวน์ทาวน์

ท่ามกลางภาวะความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป กลุ่ม Inditex จึงเริ่มหันเข้าไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจอื่นบ้างแล้ว เช่นในกลุ่มพลังงาน และโรงแรม คาดกันว่าหากกลุ่มธุรกิจนี้ไม่ไปทำอะไรที่ผิดพลาดจนเกินไป ก็จะกลายเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่จะทำอะไรได้อีกมาก อย่างน้อยก็สำหรับระบบเศรษฐกิจของสเปน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น